วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

 สถานีอวกาศ
     หลังจากที่มนุษย์สามารถเอาชนะแรงโน้มถ่วงของโลก โดยการส่งยานอวกาศหรือดาวเทียมขึ้นไปสู่วงโคจรได้สำเร็จช่วงปลายปี พศ.2500 (คศ.1957) ด้วยดาวเทียมดวงแรกของสหภาพโซเวียต "สปุคนิค 1" หลังจากนั้นก็มีการส่งมนุษย์คนแรกขึ้นไปโคจรรอบโลก  และส่งมนุษย์คนแรกไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จ ในเดือนกรกฏาคม พศ.2512 (คศ.1969) ด้วยยานอะพอลโล 11 ทำให้มนุษย์พยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติอีกอย่างให้ได้โดยการขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงให้นานที่สุด  จึงต้องมีระบบช่วยชีวิตที่สมบูรณ์ ทั้งน้ำ อาหาร และ อากาศ  รวมทั้งระบบสันทนาการ เพื่อลดความเคลียดและปัญหาเรื่องสุขภาพ  ทำให้ยานอวกาศขนาดเล็กๆแบบเดิมไม่สามารถทำได้
     มนุษย์จึงมีแนวความคิดที่จะสร้างในรูปแบบของห้องหรือสถานี ที่มีระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ และโคจรอยู่ในอวกาศรอบโลก จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการสร้างสถานีอวกาศขึ้นมา 
     ประโยชน์ที่ได้จากสถานีอวกาศก็คือ 
     1)  ศึกษาความเป็นไปได้ของการดำรงชีวิตในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง ที่มีผลกระทบโดยตรงกับมนุษย์ เช่น สภาพจิตใจ  และ สภาพร่างกาย
     2)  ศึกษาการทดลองต่างๆทางวิทยาศาสตร์ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง ซึ่งการทดลองบางอย่างไม่สามารถทำได้บนพื้นโลก
     3)  ศึกษาพฤติกรรมของสัตว์บางชนิด และการดำรงชีพของสัตว์เหล่านั้น เมื่ออยู่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง เช่น ศึกษาการชักใยของแมงมุม เป็นต้น
     4)  ใช้สำหรับการศึกษาทางด้านดาราศาสตร์  เพราะในอวกาศไม่มีชั้นบรรยากาศรบกวนหรือขวางกั้น
     5)  ใช้สำหรับการศึกษาทางด้านธรณีวิทยา และ อุตุนิยมวิทยา  ควบคู่ไปกับระบบดาวเทียม
     6)  ใช้สำหรับประโยชน์ทางการทหาร
     7)  นอกจากนี้การสร้างสถานีอวกาศ ยังเป็นแนวทางที่ทำให้มีการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์หรือวิทยาการใหม่ๆขึ้นมาสำหรับการพัฒนาสถานีอวกาศรุ่นต่อๆไป

       จากอดีตถึงปัจจุบัน
       สถานีอวกาศแห่งแรกของโลกคือสถานีอวกาศซัลยูตของรัสเซีย  ตามมาด้วย Skylab  และสถานีอวกาศเมียร์  ซึ่งทั้งสามสถานีนั้นได้ยุติโครงการและตกลงในมหาสมุทรหมดแล้ว ยังคงเหลือเพียงสถานีเดียว คือสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งเป็นสถานีอวกาศที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา ปัจจุบันยังโคจรอยู่รอบโลก แต่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์  ซึ่งมีการก่อสร้างเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ


สถานีอวกาศซัลยูส
     
  โครงการสถานีอวกาศซัลยูตจากความสำเร็จในการลงเหยียบดวงจันทร์ของสหรัฐอเมริกา ทำให้สหภาพโซเวียต (ครั้งนั้นยังไม่ได้แยกประเทศเหมือนปัจจุบัน) คู่แข่งของสหรัฐฯได้มุ่งเป้าหมายไปที่การสร้างสถานีอวกาศโคจรรอบโลกแทน เพื่อใช้ศึกษาการดำรงชีพในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง รวมทั้งการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ซึ่งโครงการสถานีอวกาศซัลยูต (Salyut) ของสหาภาพโซเวียตก็เกิดขึ้น และถือเป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของโลก คำว่า ซัลยูตตรงกับภาษาอังกฤษว่า  Salute แปลว่า "ให้ความเคารพ"
       โครงการสถานีอวกาศซัลยูต เป็นสถานีอวกาศแบบ Single Module คือมีเพียงยูนิตเดียว สถานีอวกาศซัลยูตในรุ่นแรกๆมีท่าเชื่อมต่อ (Docking Port) เพียงท่าเดียวสำหรับยานโซยุส (Soyuz) ยานลำเลียงและยานขนส่งแบบเดียวที่สหภาพโซเวียตใช้ในขณะนั้น ใช้สำหรับสับเปลี่ยนลูกเรือจากโลกและใช้เดินทางกลับสู่โลกครั้งละ 2 ถึง 3 คน 
       โครงการซัลยูตประกอบด้วยโครงการย่อยๆอีก  9 โครงการ ตลอดช่วงเวลา 11 ปีตั้งแต่ ปีพศ.2514 ถึง 2528 บางโครงการก็ชื่อเรียกว่า DOS ( Orbital Spac Station ) ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และบางโครงการก็ใช้ชื่อ OPS ( Orbital Pilots Station) ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการทหาร
     สถานีอวกาศซัลยูต 1 (DOS-1) ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 19 เดือนเมษายน พศ.2514 ด้วยจรวดโปรตอน (Proton Rocket) ตัวสถานีอวกาศมีน้ำหนัก 18.5 ตัน ยาว 14.4 เมตร ขนาดกว้าง 4.15 เมตร  อยู่บนวงโคจรรอบโลกที่ระดับ 200-210 กิโลเมตรจากพื้นดิน วันที่ 22 เมษายน มีการส่งยาน Soyuz10พร้อมลูกเรือ 3 คนเพื่อจะเข้าไปปฏิบัติงานในสถานีแต่ไม่สามารถเข้าในสถานีได้ เนื่องจากความผิดผลาดในระบบ Docking หรือส่วนเชื่อมต่อ  จนวันที่ 7 มิถุนายน ลูกเรือ 3 คนจากยาน Soyuz11 ก็สามารถเข้าไปทำงานในสถานีได้จนถึงวันที่ 29 มิถุนายน แต่ก็เกิดเรื่องเศร้าเมื่อวาวปรับแรงดันของยานกลับโลกทำให้อากาศรั่ว ลูกเรือยาน Soyuz11 ทั้ง 3 ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตเมื่อกลับมาถึงโลก
     หลังโศกนาฎกรรมจากยาน Soyuz11 ก็ไม่มีการส่งลูกเรือขึ้นไปอีกเลย และปล่อยให้สถานีอวกาศตกสู่โลกที่มหาสมุทรแปซิกฟิค เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พศ.2514

      สถานีอวกาศซัลยูต 2 (OPS-1)  ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 3 เมษายน พศ.2516 ตัวสถานีมีขนาดและน้ำหนักใกล้เคียงกับ Sulyut 1 แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันก็คือ Sulyut 2 ถูกใช้ในโปรแกรมเกี่ยวกับทางทหารมากกว่า ภายใต้ชื่อโปรแกรม Almaz ซึ่งแปลว่า เพชร  โดยมีการติดตั้งกล้องแบบพิเศษเพื่อสำรวจลักษณะภูมิประเทศทางทหาร และ การสอดแนม  Sulyut 2 ไม่มีลูกเรือประจำการบังคับและควบคุมจากภาคพื้นดิน และมีความผิดผลาดระหว่างการใช้งานโดยใช้งานโคจรรอบโลกได้เพียง 54 วันเท่านั้น ยุติโครงการเมื่อ 28 พค. 2516


      Cosmos 557  สถานีอวกาศซัลยูต ภายใต้โปรแกรม Almaz อีกหนึ่ง ซึ่งถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พศ. 2516 ( 3 วันก่อนการปล่อยสถานีอวกาศสกายแล็ปของสหรัฐอเมริกา ) โดยใช้งานอยู่ในวงโคจรได้เพียง 11 วัน ก็เกิดการผิดผลาดจากศูนย์ควบคุมภาพพื้นดินจึงต้องปล่อยให้Cosmos 557 ตกลงในมหาสมุทรเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ปีเดียวกัน  โครงการนี้รัสเซียทำอย่างเงียบๆซึ่งความลับนี้พึ่งมารู้ในภายหลัง

      สถานีอวกาศซัลยูต 3 (OPS-2) เป็นอีกหนึ่งโปรแกรมทางทหาร ส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พศ.2517 มีการทดสอบทำลายเป้าหมายดาวเทียมในอวกาศโดยลูกเรือจากยาน Soyus14และมีความพยายามจะเปลี่ยนลูกเรือจากยาน Soyus15 แต่ไม่สำเร็จ ทำให้ภาระกิจมีลูกเรือเพียงชุดเดียว และยุติโครงการเมื่อวันที่ 24 มกราคม พศ.2518 รวมโคจรรอบโลกได้ 213 รอบ 
      สถานีอวกาศซัลยูต 4 (DOS-4) ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พศ.2517 อยู่บนวงโคจรที่ระดับความสูง 350 กิโลเมตรจากพื้นดิน  มีการส่งลูกเรือขึ้นไปสับเปลี่ยนครั้งละ 2 คนด้วยยาน Soyuz 17-18-20 อยู่ในวงโคจร 770 รอบจนถึงวันที่  2 กุมภาพันธ์ พศ.2520 ก็ตกสู่มหาสมทุรแปซิกฟิค


     สถานีอวกาศซัลยูต 5 (OPS-3) ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พศ.2519 เป็นโปรแกรมทางการทหารครั้งที่ 3 และครั้งสุดท้าย มีการส่งลูกเรือไปประจำสถานี 2 ครั้งจาก Soyuz 21 และ 24 โคจรรอบโลกอยู่ 412 รอบ และยุติโครงการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พศ.2520

     สถานีอวกาศซัลยูต 6 (DOS-5)  ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 29 กันยายน พศ.2520 ตัวสถานีได้รับการออกแบบใหม่ให้มีท่าเชื่อมต่อ (Docking Port)ได้อีก 1 บริเวณท้ายสถานีสำหรับเป็นท่าเชื่อมต่อของยานขนส่งเสบียง Progress ซึ่งเป็นยานที่ไม่มีคนขับ สำหรับส่งเสบียงและน้ำสำหรับลูกเรือให้สามารถอยู่บนสถานีอวกาศได้นานขึ้น ซึ่งสามารถทำลายสถิติอยู่ได้นานถึง 186 วันเป็นครั้งแรก มีลูกเรือหมุนเวียนมาประจำสถานีจำนวน 33 คน โคจรรอบโลกจำนวน 1764 รอบ จนกระทั่งสถานีได้รับความเสียหายจากการชนของยาน Progress ทำให้ต้องยุติโครงการเมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม พศ. 2525


สถานีอวกาศซัลยูต 7 (DOS-6) เป็นโครงการสถานีอวกาศซัลยูตสุดท้าย ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 19 เมษายน พศ.2525  ซึ่งมีการติดตั้งอุปกรณ์ไจโรบนสถานีอวกาศเป็นครั้งแรก เพื่อสร้างสมดุลให้กับสถานี และเป็นเทคโนโลยี่ที่ใช้กับสถานีอวกาศรุ่นต่อๆมา


      ซัลยูต 7 ใช้งานอยู่จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พศ.2528 เมื่อสถานีควบคุมบนภาคพื้นดินตัดการติดต่อกับสถานีโดยบังเอิญ ทำให้สถานีอวกาศหายไปและติดต่อไม่ได้เป็นเวลานาน แม้ภายหลังจะสามารถติดตามกลับมาได้และส่งลูกเรือเข้าไปในสถานีได้ แต่ก็พบว่าสถานีเสียหายและใช้งานไม่ได้อีก  ประกอบกับสหภาพโซเวียตเองก็มีโครงการจะสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่คือ สถานีอวกาศเมียร์  จึงได้ยุติโครงการนี้ไป



ห้องทดลองลอยฟ้า
        
      สถานีอวกาศแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา  ซึ่งในยุคสมัยนั้นยังไม่ได้ใช้คำว่า สถานีอวกาศ (SpaceStation)  แต่จุดมุ่งหมายเพื่อทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่างๆในสภาวะไร้น้ำหนัก  จึงถูกเรียกว่าห้องทดลองลอยฟ้า (Sky Lab)
       ในระหว่างที่สถานีอวกาศซัลยูสของสหภาพโซเวียต (รัสเซียในสมัยนั้น) กำลังทำภาระกิจอยู่ในวงโคจรรอบโลก  สหรัฐเองก็ไม่ยอมน้อยหน้า มีการส่งชิ้นส่วนแรกของสกายแลปขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พศ.2516  อยู่ในวงโคจรระดับความสูง 430 กิโลเมตรจากพื้นโลก โคจรรอบโลก 1 รอบกินเวลา 91 นาที  ชิ้นส่วนของสกายแลปส่วนใหญ่ได้มาจากโครงการอะพอลโล่ที่ยุติลงไป ซึ่งเมื่อประกอบเสร็จห้องทดลองลอยฟ้านี้ก็มีมวลรวมทั้งสิ้น 91 ตัน มีขนาดยาว36 เมตร หรือประมาณตึก 4 ชั้น  ตัวห้องทดลองแป็นรูปทรงกระบอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6.7 เมตร  มีลูกเรือสับเปลี่ยนหมุนเวียนขึ้นไปอยู่บนห้องทดลองลอยฟ้าแห่งนี้ ครั้งละ 3 คน จำนวน 3 ชุด ได้แก่
     ลูกเรือชุดที่ 1 (SkyLab 2)  Charles Conrad, Joseph Kerwin และ Paul Weitz อยู่ในวงโคจรตั้งแต่ 25 พฤษภาคม  ถึง 21 มิถุนายน พศ.2516  เป็นเวลานาน 28 วัน 50 นาที โคจรรอบโลก 404  รอบ
     ลูกเรือชุดที่ 2 (SkyLab 3)  Alan Bean, Owen Garriott และ Jack Lousma  อยู่ในวงโคจรตั้งแต่วันที่ 28 กรกฏาคม ถึง 24 กันยายน พศ. 2516  เป็นเวลานาน  59 วัน 11 ชั่วโมง โคจรรอบโลก  859 รอบ
     ลูกเรือชุดที่ 3 (Sky Lab 4)  Gerald Carr, Edward Gibson และ  William Pogue อยู่ในวงโคจรตั้งแต่วันที่  16 พฤศจิกายน 2516 ถึง 8 กุมภาพันธ์ พศ.2517  เป็นเวลานาน 84 วัน  1 ชั่วโมง โคจรรอบโลก  1214 รอบ

     เป้าหมายของห้องทดลองลอยฟ้านี้ ถูกใช้เพื่อทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และ ทางการแพทย์ภายใต้สภาวะไร้น้ำหนัก ตลอดระยะเวลา 171 วัน 13 ชั่วโมง ของลูกเรือ 9 นาย กับการทดลองเกือบ 300 รายการ รวมทั้งการสังเกตดวงอาทิตย์ ซึ่งถือว่าเป็นหอสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์แห่งแรกบนวงโคจรรอบนอกโลก  อีกทั้งการสังเกตลักษณะภูมิประเทศบนโลก และชั้นบรรยากาศ จากนอกโลก



      สถานีสกายแล็ปถูกใช้งานเป็นเวลา 7 ปี และเกิดอุบัติเหตุทำให้สูญเสียแผงพลังงานแสงอาทิตย์ไป 2 แผงกับ ระบบควบคุมความร้อน ทำให้ต้องมีการเลิกใช้ห้องทดลองลอยฟ้านี้ไป แล้วก็ถูกปล่อยให้ตกและเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ  ชิ้นส่วนที่เหลือบางส่วนตกลงในมหาสมุทรอินเดีย ทางทิศตะวันตกของทวีปออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม พศ.2522


   Commnad and Service Module  เรียกย่อๆว่า CSM ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ โมดูลควบคุม และ โมดูลบริการ  เป็นยานอวกาศของนาซ่า ถูกนำมาใช้ตั้งแต่โครงการอะพอลโล่ ใช้สำหรับเป็นยานขนส่งจากพื้นโลกสู่สถานีอวกาศ และใช้ส่วนโมดูลบริการกลับสู่โลก
   Apollo Telescope Mount  เรียกย่อๆว่า ATM เป็นกล้องช่วงคลื่นรังสีอัลตร้าไวโอเรทที่ใช้สำหรับศึกษาดวงอาทิตย์
   ATM solar Array panels  เป็นแผงโซล่าเซล สำหรับใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับ ATM และบางส่วนของสถานี
   Multiple Docking Adapter  เป็นท่าเชื่อมต่อระหว่างสถานีกับ CSM
   Airlock Module   เป็นห้องปรับแรงดันอากาศ
   Orbital Workshop   ส่วนห้องทดลองและที่พักอาศัย
   OWS Solar Array Panels   แผงโซล่าเซล สำหรับใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับ Orbital Workshop
  
  สถานีอวกาศเมียร์  Mir Space Station
     
   มารู้จักกับเมียร์
      สถานีอวกาศเมียร์ เป็นโครงการอวกาศด้านวิทยาศาสตร์ของรัสเซีย รุ่นที่สาม นับจากโครงการ Salyut Station เมื่อปี 1970 และ 1980 ซึ่งประสพผลสำเร็จทำให้ MIR เติบโตขึ้นมา
      ชื่อ MIR  มีความหมายว่า สันติ (Peace) โดยโครงการสถานีอวกาศเมียร์ เริ่มขึ้นสู่วงโคจรครั้งแรกเมื่อปีพศ.2529 (คศ.1986)  หลังจากที่ในอวกาศว่างเว้น SkyLab ไม่สถานีอวกาศโคจรอยู่เลยนาน 7 ปี  ชิ้นส่วนสถานีชิ้นแรก ที่เรียกว่า Core Module ถูกส่งเข้าสู่วงโคจร เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พศ. 2529  (คศ.1986)  อยู่ในวงโคจรที่ระดับความสูง 248-261 กิโลเมตร (อยู่ต่ำกว่า สถานี ISS )  โดยโคจรรอบโลกด้วยความเร็ว ประมาณ 28,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือประมาณ 16 รอบต่อ 1 วัน  ทำมุมเอียงกับเส้นอิคลิปติด 51.6 องศา  และหลังจากนั้น ชิ้นส่วนอื่นๆของสถานีก็ถูกส่งขึ้นไปเชื่อมต่อเรื่อยๆ มีมูลค่าทั้งสิ้น 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ


   ประวัติศาสตร์อันยาวนาน
     นับจากวันที่ชิ้นส่วนแรกของเมียร์ถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี คศ.1986 จนถึงปัจจุบัน(คศ.2001) เมียร์มีอายุเกือบ 15 ปีแล้ว โคจรรอบโลกมาแล้ว 83,500 รอบ ประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมียร์ ที่ให้ประโยชน์แก่วงการวิทยาศาสตร์ อย่างมากมาย มีมนุษย์ได้ขึ้นไปอยู่แล้ว 104 คน จากอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และประเทศอื่นๆ  และที่เป็นของรัสเซียเอง 42 คน   มีการทำสถิติให้มนุษย์ อยู่ในอวกาศได้นานที่สุด 747 วัน โดยนักบินอวกาศ Sergei Avdeyev  ระหว่างปีคศ.1997-1999  และการเดินในอวกาศของมนุษย์อวกาศ 78 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 352 ชั่วโมง โดยสถิติเป็นของ  Anatoly Solovyov  เดินในอวกาศ 16 ครั้ง รวมเวลา 77 ชั่วโมง  


     สรุปเหตุการณ์ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา 
1986 สหภาพโซเวียด ส่งโมดูลของสถานีเมียร์ส่วนแรก Core Module  เข้าสู่วงโคจร เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1986  และลูกเรือกลุ่มแรกที่ขึ้นบนสถานี เมื่อวันที่ 13 มีนาคม
1987  โมดูลส่วนที่สอง Kvant-1 ก็ถูกส่งขึ้นไป เชื่อมต่อ แต่ประสพปัญหาในการต่อยาน ปรากฏว่า พบเศษขยะอยู่ในส่วนเชื่อมต่อ (Docking Port)
1989  ส่งโมดุล Kvant-2 ขึ้นไปเชื่อมต่อกับสถานี
1990  ส่งโมดูล Kristall  ขึ้นไปเชื่อมต่อกับสถานี
1991 ยานขนส่งสินค้าควบคุมไม่ได้ระหว่างเข้าเชื่อมกับสถานีทำให้เกือบชนกับสถานีอวกาศ และทางรัสเซีย ขาดเงินทุน ประกอบกับการล้มสลายของสหภาพโซเวียต ทำให้ลูกเรือ ต้องอยู่ในอวกาศนานขึ้นกว่าที่กำหนดไว้
1995 นักบินอวกาศชาวรัสเซีย Valery Polyakov เดินทางกลับโลก หลังจากที่ต้องอยู่ในอวกาศนานถึง 438 วัน หรือ 14 เดือน นับเป็นการอยู่ในอวกาศนานที่สุดเป็นครั้งแรก  มีการติดตั้ง Docking Module และ Norman Thagard  เป็นชาวอเมริกันคนแรก ที่ไปเยี่ยมสถานีอวกาศเมียร์



1996 มีการติดตั้งโมดูล Priroda สำหรับใช้เป็นโมดูลควบคุมสถานีระยะไกลจากโลก
1997 เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงอย่างต่อเนื่อง กับสถานีอวกาศ โดยครั้งแรก 23 กุมภาพันธ์ ถังผลิต อ๊อกซิเยนในสถานีเกิดติดไฟขึ้น  ทำให้เกือบไฟครอก ลูกเรือในสถานี , วันที่ 25 มิถุนายน ยานสินค้า(Progress) กระแทกกับตัวสถานี ระหว่างการฝึกควบคุมการเชื่อมต่อ ด้วยมือ ทำให้ส่วนห้องทดลองอากาศรั่ว แต่ลูกเรืออุดลอยรั่วไว้ได้ทัน , สองวันต่อมาคอมพิวเตอร์ บนสถานีดับ, เดือนกรกฏาคม ลูกเรือตัดพลังงานบนสถานี ก่อนกำหนดทำให้สถานีต้องลอยคว้างอยู่ในอวกาศ  และอีก 1 เดือนต่อมา เครื่องคอมพิวเตอร์หลักดับ ระหว่างเชื่อมต่อกับยานขนส่งสินค้า ทำให้สถานีต้อง ลอยคว้างในอวกาศควบคุมไม่ได้อีกครั้ง
1999 รัสเซียประกาศจะทิ้งสถานีอวกาศเมียร์ในปี คศ.2000 นอกจากว่าจะมีเงินทุนมาสนับสนุน  และนักบินอวกาศ  Sergei Avdeyev ทำสถิติใหม่อยู่บนสถานีอวกาศนานที่สุดคือ 747 วัน  และเดินทางกลับโลกวันที่ 27 สิงหาคม



2000 MirCorp  ซึ่งนักธุระกิจชาวอเมริกันเป็นเจ้าของ ชื่อ Dennis Tito วางโครงการจะเช่าสถานีอวกาศ เมียร์ และจะจัด space tourist สร้างโมดูลเพื่อ เชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ  และตัวเขาเองก็จะ เดินทางไปอยู่บนเมียร์ด้วย  แต่ทางการ รัสเซียแจ้งว่า MirCorp ไม่ทำตามข้อตกลง จึงประกาศจะทิ้ง สถานีอวกาศเมียร์

โครงสร้างของสถานีอวกาศ 
    
สถานีอวกาศเมียร์ Core Module ถูกเชื่อมต่อกับโมดูลอื่นๆ อีก 6 โมดูล ได้แก่ Kvant-1,Kvant-2,Spektr,Docking port,Kristall และ Pridora  จนมีลักษณะเป็นรูปตัวที (T) ขนาด 86x96x99 ฟุต  มีน้ำหนักราว 143 ตัน ถ้ามียานสินค้ามาเชื่อมต่ออีกก็จะมีน้ำหนักถึง 154 ตัน

   วาระสุดท้ายของเมียร์
       ในปี คศ. 1999 ทางการรัสเซียประกาศจะทำลายสถานีอวกาศเมียร์ทิ้ง โดยให้เหตุผลว่า แบกรับภาระ ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสถานีไม่ไหว อีกทั้งต้องร่วมโครงการสถานีอวกาศนานาชาติด้วย ทำให้ขาดเงินทุน ปรับปรุง และอายุของสถานีก็นานมากทรุดโทรม และเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงบนสถานีอวกาศในปี 1997 ติดต่อกัน
       หัวหน้าองค์การอวกาศรัสเซีย Yuri Koptev  กล่าวว่า "จะไม่เป็นการปลอดภัยหากปล่อยให้เมียร์ยังอยู่ในวงโคจรต่อไป ระบบต่างๆของสถานีก็เริ่มชำรุดแล้ว"  โดยครั้งแรกวางเป้าหมายจะให้สถานีอวกาศตกบริเวณ มหาสมุทรแปซิฟิค ทางตะวันออกของทวีปออสเตเลีย ราววันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2001 แต่ก็มีการเลื่อนกำหนด
       ล่าสุดทางการรัสเซียแจ้งว่าจะให้สถานีอวกาศเมียร์กระทบโลกในวันที่ 20 มีนาคม 2001 นี้แน่นอน โดยจะทำการลดระดับความสูงของสถานีให้เหลือ 210 กิโลเมตร แล้ววันที่ 20 มีนาคม ยาน Progress จะจุดเครื่องยนต์  เพื่อลดระดับของสถานี โดยจะลงต่ำเหนือประเทศรัสเซียและจีน แล้วดิ่งหัวลงสู่ มหาสมุทรแปซิฟิค ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 45 นาทีหลังจากจุดเครื่องยนต์ครั้งสุดท้าย และคาดว่า จะมีชิ้นส่วนเมียร์แตกออกราว 1,500 ชิ้น บางส่วนจะเผาไหม้ไปในชั้นบรรยากาศ คงมีบ้างที่เหลือน้ำหนัก มากสุด 40 ตันจะถึงผิวโลก ซึ่งในงานนี้รัสเซียได้ทำวงเงินประกันไว้ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าหากชิ้นส่วนของเมียร์ ทำความเสียหายกับประชาชน โดยมีบริษัทประกันของรัสเซียเข้าร่วมกันครั้งนี้ 3 บริษัทด้วยกัน



     
    เมียร์ตกสู่แปซิฟิกเรียบร้อย
       ถึงกาลอวสานเป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนรัสเซีย "สถานีอวกาศเมียร์" ตกลงสู่เป้าหมายมหาสมุทร แปซิฟิกเมื่อเวลา 12.59 น.ของวันศุกร์ที่ 23 มี.ค. พศ. 2544 ตามเวลาในประเทศไทย กลายเป็นเศษชิ้นส่วนที่เห็นชัดจากเกาะฟิจิประมาณ 5-6 ชิ้น ในเวลาเพียง 10-15 วินาทีเท่านั้น ส่วนกองเรือประมงที่หาปลา อยู่แถบนั้น ปลอดภัยทุกลำ เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นไม่มีเหตุการณ์น่าวิตก



       สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองโคโรลยอฟ ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุม อวกาศรัสเซีย เปิดเผยว่า สถานีอวกาศเมียร์ ซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึง 15 ปี น้ำหนัก 137 ตัน ถือว่าเป็นชิ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุด บนอวกาศที่นำกลับคืนสู่โลก ได้ตกลงมา ณ จุดที่กำหนดไว้ตามแผนการทำลายทิ้ง บนผืนน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เส้นลองติจูด 150 องศาตะวันตก และ เส้นละติจูด 40 องศาใต้ เหลือเป็นเศษชิ้นส่วนประมาณ 20 ตัน กระจัดกระจายไปทั่วรัศมีความยาว 1,500 กม.ของมหาสมุทรแปซิฟิก ช่วงระหว่างประเทศนิวซีแลนด์กับชิลี
       ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็นและช่างภาพของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ไปรายงานข่าวบนเกาะฟิจิ รายงานถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า เหมือนกับเป็นการแสดงที่น่าตื่นเต้น เพราะได้เห็นเศษชิ้นส่วนที่เหลือจากการลุกไหม้ขณะที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก เป็นเพียงเศษชิ้นส่วนที่มีกลุ่มควันสีขาวเป็นทางยาว ประมาณ 5-6 ชิ้น ลอยข้ามขอบฟ้า ไปทางมหาสมุทรแปซิฟิก ตอนใต้ ด้วยความเร็วสูง ใช้เวลาประมาณ 10-15 วินาที จากนั้น ก็จะมีเสียงคล้ายเสียงดังโครม ที่เกิดจากเครื่องบิน เร็วเท่าความเร็วของเสียง ดังขึ้นมา 2 ครั้ง
       แม้ภารกิจครั้งนี้ของรัสเซียจะดูว่า ประสบผลสำเร็จ ตรงที่ไม่เป็นอันตราย แต่อย่างใด ในการนำสถานีอวกาศเมียร์ กลับมาสู่พื้นโลกในสภาพที่ต้องถูกทำลาย ซึ่งทั่วโลกต่างวิตกว่า อาจจะไปตกในพื้นที่ที่มีประชากรอาศัย ทำให้เป็น อันตรายได้ ดังนั้น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 5 เที่ยวบิน ที่ต้องบินเส้นทางที่สถานีอวกาศเมียร์ จะตกลงมา จึงต้องยกเลิกเที่ยวบินไปก่อนเพื่อความปลอดภัย แต่กองเรือประมงของ หมู่เกาะอเมริกัน ซามัว ที่หาปลาทูนา ในบริเวณนั้น ก็ไม่มีลำใดได้รับอันตรายแต่อย่างใด
      นายโทนี มาร์ติน รองผู้อำนวยการสำนักงานความปลอดภัยการเดินเรือทางทะเลของนิวซีแลนด์เปิดเผยว่า กองเรือประมง 27 ลำที่หาปลาทูน่าอยู่ในบริเวณที่เศษชิ้นส่วนของสถานีอวกาศเมียร์จะตกลงมานั้น ไม่มีลำใดได้รับความเสียหายแต่อย่างใด รวมถึงไม่มีรายงานแจ้งสถานการณ์ฉุกเฉิน จากกองเรือที่เดินเรืออยู่ในแถบนั้น จึงเป็นที่เชื่อได้ว่า เศษชิ้นส่วนของสถานีอวกาศตกลงมาสู่มหาสมุทรทั้งหมด โดยไม่มีส่วนใด สร้างความเสียหาย ให้กับสิ่งใดเลย ซึ่งก็ตรงกับที่เจ้าหน้าที่ของออสเตรเลียรายงาน
      ส่วนที่กรุงโตเกียว โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นแถลงว่า สถานีอวกาศเมียร์ลอยผ่านประเทศญี่ปุ่น มุ่งหน้าสู่ มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อเวลา 12.31 น.ตามเวลาในประเทศไทย ด้วยความสูงจากพื้นโลก 163 กม. ตามเส้นทางที่คำนวณเอาไว้ โดยไม่มีรายงานความผิดปรกติ หรือ เศษชิ้นส่วนของสถานีอวกาศเมียร์ ตกลงมาในดินแดนของประเทศญี่ปุ่นแต่อย่างใด ทั้งที่เมื่อวันก่อน รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีคำเตือนถึงชาวเกาะโอกินาวา ขอให้อยู่แต่ภายในที่พักอาศัยเท่านั้น เพราะอาจจะได้รับอันตรายจากเศษชิ้นส่วนของสถานีอวกาศ
       ด้านนายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทั่วโลกสนใจเรื่อง สถานีอวกาศเมียร์ ตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เช่นการติดเชื้อโรคจากอวกาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ในทางวิทยาศาสตร์ สามารถคาดการณ์และเตรียมการในเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้สามารถกระตุ้นให้ทั่วโลกสนใจเรื่องอวกาศ ในส่วนของนักวิทยาศาสตร์ไทย สิ่งที่จะได้ประโยชน์คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งได้มีการตั้งสำนักงาน พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา และจะค่อยๆพัฒนาต่อไป เพราะต้องใช้เงินลงทุน ด้านนี้สูงมาก
       ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า คงต้องติดตามว่าเทคโนโลยีอวกาศของต่างประเทศทำไปถึงไหน เพื่อที่จะนำมาใช้ประโยชน์ และในระยะยาว จะมีการผลักดันให้มีโครงการที่จะให้นักบินอวกาศ ของไทยร่วมอยู่ในโครงการอวกาศของประเทศต่างๆด้วย เพื่อให้มีส่วนร่วมในการศึกษาและวิจัย ส่วนจะสานต่อโครงการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบาย และงบประมาณของรัฐบาล แต่นักวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของไทยส่วนใหญ่ อยากให้เกิดขึ้น เพราะเป็นประโยชน์มาก

   สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station ISS)
หรือ สถานีอัลฟ่า (Alpha)
               
            ราวปลายปี พศ.2523 (คศ.1980)  โครงการกระสวยอวกาศซึ่งขณะนั้นเดินหน้าไปได้ด้วยดี ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในช่วงนั้นคือ โรนัล เรแกน ได้ประกาศที่จะสร้างสถานีอวกาศขึ้น ที่เรียกว่า "Space Station Freedom"  ด้วยคำพูดว่า "We can follow our dreams to distant stars, living and working in space for peaceful economic and scientific gain"
            เพื่อสนองวัตถุประสงค์ของคำประกาศของประธานาธิบดี ทางองค์การนาซ่า (The National Aeronautics and Space Administration  :NASA ) ของสหรัฐจึงเริ่มดำเนินการออกแบบ และนำคำว่า "สถานี (Station)" เข้ามาใช้เป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นโรงงานซ่อมดาวเทียม  หรือเป็นท่าเทียบจอดของยานอวกาศ  หรือใช้เป็นที่สังเกตการณ์ของนักดาราศาสตร์  หรือใช้เป็นห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์  อยู่บนวงโคจรรอบรอบโลก
            ปีพศ.2527 (คศ.1984) 4 ปีหลังการประกาศโครงการ  ก็มีแบบของสถานีแบบแรกขึ้นมาเสนอ เป็นโครงการของ Johnson Space Center  โดยมีรูปร่างคล้ายตึกในแนวตั้งจึงเรียกว่า "Power Tower"  มีโครงสร้างแบบเสาที่เรียกว่ากระดูกงู (Keel) อยู่ตรงกลาง  แต่แบบนี้ก็ตกไปเนื่องจากปัญหาเรื่องการควบคุมจุดศูนย์กลางมวลของสถานี ทำให้ควบคุมลำบาก
                              Power Tower Space Station


            ปีพศ.2529 (คศ.1986)  มีการเสนอแบบเข้ามาหลากหลายโดยยังคงยึดแบบเดิมอยู่ที่มี Keel หรือ กระดูกงู เป็นโครงสร้างหลักของสถานีเพื่อลดน้ำหนัก  จนนาทีสุดท้าย ปี พศ.2533 (คศ.1990) เกือบจะมีการตกลงในแบบโครงสร้างของสถานีอวกาศ Freedom  แต่เนื่องจากโครงสร้างที่ซับซ้อน และถูกตัดงบประมาณจาก 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือ 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐ  ทำให้โครงการสถานีอวกาศ Freedom ต้องม้วนพับเก็บไป
  
            จนกระทั่งเดือนมีนาคม พศ.2534 (คศ.1991) นาซ่าก็เปิดเผยแบบใหม่ของสถานีอวกาศ โดยการร่วมทุนเริ่มแรกจากรัสเซียโดยใช้ต้นแบบของสถานีอวกาศ Mir-2  ของรัสเซียซึ่งกำลังดำเนินการอยู่  และใช้โมดูลย่อยจากยุโรป และ ญี่ปุ่น รวมให้เป็นโครงการใหม่โครงการเดียวนั้นคือ สถานีอัลฟ่า (Alpha Space Station)
            สถานีอวกาศนานาชาติ จึงเป็นโครงการทางวิทยาศาสตร์นานาชาติที่ใหญ่ที่สุดและสลับซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ ของมวลมนุษย์ชาติ เมื่อสร้างเสร็จ ในอวกาศอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ สถานีอวกาศนานาชาตินี้จะถือเป็นสิ่งที่ใหญ่ที่สุดที่เคยสร้างขึ้นมาโดยมนุษย์และไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นผิวโลก
            โครงการนี้นำทีมโดยองค์การ NASA(National Aeronautics and Space Administration) ของสหรัฐอเมริกา และยังได้รับการร่วมมือจากประเทศต่างๆ อีก 15 ประเทศ คือ
 คานาดา (CSA Canada Space Agency) 
 ญี่ปุ่น (JAXA  Japan Aerospace eXploration Agency ) 
 รัสเซีย (RKA  Russian Federal Space Agency  หรือที่รู้จักกันในชื่อของ  Rosaviakosmos)
 และกลุ่มประเทศขององค์การอวกาศยุโรป (ESA European Space Agency) อีก 11 ประเทศได้แก่
 เบลเยี่ยม
 เดนมาร์ค (DSRI Danish Space Research Instituti)
 ฝรั่งเศส (CNES Centre National d'Etudes Spatiales)
 เยอรมัน (DLR Deutschen Zentrum Fur Luft-und Raumfahet)
 อิตาลี (ASI Agenzia Spaziale Italiana)
 เนเธอร์แลนด์
 นอรเวย์ (NSC)
 สวีเดน (SNSB Swedish National Space Board)
 สเปน (INTA Instituto Nacional de Tecnica Aerorspacial)
 สวิสเซอร์แลนด์
 อังกฤษ
 และบราซิล (Brazilian Space Agency  หรือ AEB  Agencia Espacial Brasileira)

         สถานีอวกาศนานาชาติที่เสร็จสมบูรณ์จะมีมวลเกือบ 500 ตัน มีขนาดยาวกว้างประมาณ 107x87 เมตร และแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์มีพื้นผิวถึงประมาณสองไร่ครึ่ง และใช้เป็นพลังงานไฟฟ้า สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการบนสถานีอวกาศนานาชาติ


                          รูปภาพ